เคล็ดลับง่าย ๆ ถ้าทำได้ จะปลอดภัยจากข้อเข่าเสื่อม
จากสถิติมีผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูก และข้อในประเทศไทยของมูลนิธิโรคข้อ พบว่าในปี 2549 ไทยมีผู้ที่ป่วยเป็นข้อเข่าเสื่อมจำนวนมากถึง 6 ล้านคนด้วยกัน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี จากเดิมข้อเข่าเสื่อมจะพบได้มากในผู้สูงอายุ แต่ในปัจจุบันนี้ปัญหาของการเป็นข้อเข่าเสื่อมพบในผู้ที่มีอายุที่น้อยลงเรื่อย ๆ อันเนื่องมาจากปัจจัยเสี่ยง และปัจจัยเสริมหลาย ๆ อย่างมาประกอบกัน
ศัลยแพทย์กระดูกและการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมและข้อสะโพกเทียม โรงพยาบาลเวชธานี ได้อธิบายถึงการเป็นข้อเข่าเสื่อมว่า ข้อเข่าถือเป็นข้อที่ใหญ่ที่สุดมีหน้าที่รับน้ำหนักในร่างกาย ซึ่งข้อเข่านั้นจะประกอบไปด้วยส่วนต่าง ๆ มากมาย โดยส่วนที่สำคัญที่สุดจะอยู่บริเวณปลายของกระดูกอ่อนที่ทำหน้าที่เป็นผิวข้อเข่า ที่มีหน้าที่รับน้ำหนัก ช่วยให้การขยับข้อเข่าเรียบ และลื่น ดังนั้นสาเหตุของการเกิดข้อเข่าเสื่อม มักจะเกิดจากกระดูกผิวอ่อนสึกหรอ ทำให้เวลาขยับจะเกิดการเสียดสีกันระหว่างกระดูกจนเกิดอาการอักเสบ และมีอาการปวดตามมา
ปัจจัยที่ทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อม
- อายุ สำหรับผู้ที่มีอายุมาก มักจะเป็นการเสื่อมไปตามกาลเวลา
- น้ำหนัก พบว่าผู้ป่วยที่เป็นข้อเข่าเสื่อมส่วนใหญ่จะมีน้ำหนักที่มากเกินมาตรฐาน
- การใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การยกของที่หนักเกินไป หรือเดินขึ้นลงบันไดโดยไม่จำเป็น รวมถึงท่านั่งที่ผิดอริยาบท ที่ทำให้ต้องงอเข่าอยู่บ่อย ๆ
- เคยได้รับบาดเจ็บบริเวณข้อเข่ามาก่อน เช่น กระดูกหัก เส้นเอ็นฉีก หรือหมอนรองเข่าขาด
อาการที่สังเกตได้จากข้อเข่าเสื่อม
ในเบื้องต้นอาจจะรู้สึกติดขัด และตึง หากเป็นมากขึ้นจะรู้สึกปวด โดยอาการปวดจะแสดงอาการหลังจากใช้เข่าเป็นเวลานาน หากปล่อยทิ้งไว้อาการปวดจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ถี่ขึ้น จนบางครั้งแค่ขยับเพียงนิดเดียวก็ปวดจี้ดขึ้นมาแล้ว หรือจะปวดในระหว่างตอนนอนด้วย ซึ่งจะไปรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก
การดูแลตนเองของผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นข้อเข่าเสื่อม
- ปรับปรุงอิริยาบถ และท่าทางต่าง ๆ ที่จะมีผลกระทบต่อข้อเข่า
- ควบคุมน้ำหนักตัวเองไม่ให้เกินมาตรฐาน
- การออกกำลังกาย ควรเน้นไปที่การออกกำลังที่ส่งผลกระทบต่อข้อเข่าให้น้อยที่สุด เช่น วิ่งเหยาะ ๆ ปั่นจักรยาน และว่ายน้ำ เป็นต้น